22 สิงหาคม 2552

พันธุ์ศักดิ์ชัย ปูพบุญ: ผลการปฏิบัติปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับวิชาชีพทางการศึกษา


ผลการปฏิบัติปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับวิชาชีพทางการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 7

ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป

1. ข้อมูลขอเข้ารับการคัดเลือกผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 7

ชื่อ – สกุล    นายพันธุ์ศักดิ์ชัย ปูพบุญ
 เกิดวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2501   อายุ 51 ปี  อายุราชการ 17 ปี

ที่อยู่ปัจจุบัน
บ้านม่วงเหนือ เลขที่ 4 หมู่ที่ 12 ต.บ้านยาง อ.ลำทะเมนชัย  จ. นครราชสีมา

ตำแหน่ง
ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ  โรงเรียนบ้านหนองไผ่พิทยาคม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 7
กรม / ส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

คุณวุฒิสูงสุด
ปริญญาโท  วิชาการบริหารการศึกษา  
มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล

 2. ด้านคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ

การเป็นผู้มีวินัย

ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในความรับผิดชอบ ตามภารกิจและหน้าที่ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ อย่างเต็มความสามารถและประพฤติปฏิบัติตามครรลองคลองธรรม ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการรักษาเวลา การตรงต่อเวลา การอุทิศเวลาให้กับทางราชการ วินัยการใช้จ่ายเงิน อดออม รู้รักสามัคคี มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และให้คำปรึกษางานด้านต่าง ๆ แก่เพื่อนร่วมงานและสายครูผู้สอน ขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นในความสำเร็จของงาน ยึดมั่นในคุณธรรม ดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องเป็นธรรม และรักษาชื่อเสียงของสถานศึกษา

การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

ข้าพเจ้าได้ประพฤติตนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทะศาสนา มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ การให้ความยุติธรรมแก่ผู้ร่วมงาน ให้ความไว้วางใจ มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ อุทิศเวลาให้กับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด และเอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รักษาเวลา มีความกระตือรือร้น เอาใจใส่ต่อการทำงานของตนเองและเพื่อนร่วมงาน ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมโรงเรียนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของกันและกัน แต่งกายสุภาพเรียบร้อยถูกตามระเบียบข้อตกลง ใช้วาจาสุภาพและเหมาะสมกับกาลเทศะ มีความเพียรพยายามในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสถานศึกษาอย่างตั้งใจ มุ่งมั่นและเต็มความสามารถ

การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม

การดำรงชีวิตในหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาในสถานศึกษา ใช้ชีวิตในการปฏิบัติราชการกับผู้ร่วมงานอย่างเป็นกันเอง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในหน้าที่ราชการหรือปัญหาส่วนตัว ที่ผู้ร่วมงานนำมาปรึกษา ให้โอกาส ยอมรับฟังความคิดเห็นที่ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ส่งเสริมสนับสนุนความรักความสามัคคีแก่ผู้ร่วมงาน ช่วยเหลือสังคมและ เข้าร่วมพบปะพูดคุยหรือร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับชุมชนตลอดจนเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ตามโอกาสอันควรอย่างสม่ำเสมอ และดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลานของตน ให้ความเป็นกันเองกับนักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

การดำรงชีวิตในหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นตัวอย่างในการประพฤติตนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการประหยัดอดออม การประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล การประกอบอาชีพสุจริตเป็นตัวอย่างให้แก่ลูก ๆ หรือคนในครอบครัว

ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ

มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตนเอง ปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู ส่งเสริมสนับสนุนเพื่อนครูในสถานศึกษาให้มีการพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้ใส่ตนอยู่เสมอให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันและให้นำมาใช้พัฒนาสถานศึกษา ครูผู้ร่วมงานและนักเรียน ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคมยอมรับ ยึดมั่นอยู่เสมอว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและถือว่าครูเป็นแม่พิมพ์เป็นเป้าหลอมที่จะหล่อหลอมให้นักเรียนเป็นคนดี และมีภาระหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ในการสอนนักเรียนให้มีความรู้ความสามารถตามศักยภาพของนักเรียน มีการพัฒนาตนเองในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาวิชาการ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ การพัฒนาตนเองโดยการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยวงชวลิตกุล นครราชสีมา เพื่อนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเอง สถานศึกษาหรือระบบงานในสถานศึกษา และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย สื่อที่ทันสมัยต่าง ๆ มาสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาเด็กให้ก้าวทันตามกระแสโลกแห่งการเรียนรู้และสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ความรับผิดชอบในวิชาชีพ

ให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือและส่งเสริมให้กำลังใจแก่บุคลากรและนักเรียนโดยเสมอภาค สร้างความเป็นมิตร เป็นที่พึ่งและไว้วางใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ตอบสนองข้อเสนอแนะและความต้องการของนักเรียน ครูและผู้ปกครองนักเรียนในการสร้างสรรค์ตามสภาพปัญหาและความต้องการ และตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน ส่งเสริมสนับสนุนเพื่อนร่วมงาน ผู้ปกครองนักเรียนในการพัฒนาโรงเรียน บริจาคทรัพย์สิน ให้ความร่วมมือและสร้างความตระหนักให้กับเรียนให้เกิดความหวงแหนและภูมิใจในความเป็นไทย เอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนเข้าร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น เช่น งานบวชนาค งานแต่งงาน งานประเพณีแห่ กัญหาชาลี ประเพณีกุ้มข้าวใหญ่และพิธีกรรมทางศาสนาวันสำคัญต่าง ๆ ฯลฯ


ตอนที่ 2 ผลการปฏิบัติงาน
สภาพปัจจุบัน

โรงเรียนบ้านหนองไผ่พิทยาคม ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 7 ตำบลขุย อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 7 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8 ห้องเรียน มีจำนวนนักเรียน ชาย – หญิง รวมทั้งสิ้น 85 คน ข้าราชการครู 6 คน และพนักงานบริการ 1 คน

การบริหารสถานศึกษา

การบริหารโรงเรียนถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และ การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้หลักการ แนวคิด และทฤษฎี ซึ่งผ่านการวิจัย การตรวจสอบ และถูกนำไปใช้อย่างได้ผลมาแล้ว มาเป็นแนวทางในการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการบริหารสถานศึกษา ข้าพเจ้าจึงยึดหลักการ และแนวคิด ของ SBM ( School Based Management ) การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน มาเป็นแนวทางในการบริหารงานให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและผสมผสานทฤษฎี กับการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และยึดหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มาเป็นแนวทางในการบริหารโรงเรียนโดยแบ่งออกเป็น 4 งาน ดังต่อไปนี้


1.การบริหารงานวิชาการ

งานวิชาการถือว่าเป็นงานที่เป็นหัวใจของโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกแห่ง เพราะเป็นตัวที่บ่งบอกประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของนักเรียนที่ทางโรงเรียนได้ดำเนินการจัดการศึกษาหรือจัดประสบการณ์ให้กับนักเรียนตรงตามความต้องการของหลักสูตรสถานศึกษา นักเรียนและชุมชน ดังนั้นโรงเรียนจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรสถานศึกษา แผนกลยุทธ์ของโรงเรียน โดยมีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน นักเรียนและชุมชนโดยได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

-จัดทำและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา โดยบูรณาการหลักสูตรแกนกลางให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

-ส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะการปฏิรูปการเรียนรู้สู่มาตรฐานการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

-จัดให้มีการเรียนรู้ที่ใช้สื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย การใช้แหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น

-การจัดระบบการนิเทศงานโครงการ และการนิเทศการเรียนการสอน เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ ให้มีการจัดระบบการวัด และประเมินผลตามสภาพจริง การกรอกแบบรายงานการประเมินผลแต่ละช่วงชั้นเพื่อเป็นหลักฐานในการวัดและประเมินผล สอดรับกับมาตรฐานการศึกษา

-การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายโดยคำนึงถึงธรรมชาติของผู้เรียน

-จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรและแหล่งเรียนรู้เพื่อบริการสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมแข่งขันวิชาการต่าง ๆ ฯลฯ

-ชุมชนเข้ามาส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

-จัดให้มีการสอนซ่อมเสริมในช่วงเช้า บ่ายและหลังเลิกเรียน

-จัดให้มีห้องสมุดของโรงเรียนและมุมหนังสือประจำห้องเรียน

-ดำเนินการคัดกรองเด็กและจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีปัญหาทางด้านการเรียน

-การเยี่ยมชั้นเรียนโดยผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะนิเทศที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อเสนอแนะปรับปรุงแก้ไขการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนบันทึกไว้ในสมุดเยี่ยมชั้นเรียน

-ส่งเสริมความรู้บุคลากรทางด้านวิชาการโดยส่งเสริมสนับสนุนให้เข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ



2.การบริหารงานงบประมาณ การเงิน

การบริหารงานด้านงบประมาณก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการที่จะนำพาโรงเรียนไปสู่จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของโรงเรียน การที่จะทำให้กระบวนการบริหารงานสำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่โรงเรียนวางไว้หรือทำให้โครงการกิจกรรมต่าง ๆ ที่วางแผนไว้ดำเนินไปตามแผนงานหรือโครงการที่กำหนด จึงได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

-ดำเนินการวางแผนการบริหารงานงบประมาณ การจัดหาและการใช้งบประมาณ การตรวจสอบการใช้งบประมาณ

-การพัฒนาระบบตรวจสอบภายใน การติดตามตรวจสอบควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานงบประมาณให้เอื้อต่อการพัฒนาด้านการจัดการเรียนรู้เน้นไปที่จัดระบบควบคุมภายในโรงเรียนเพื่อให้การบริหารงานงบประมาณเป็นไปอย่างถูกต้องประหยัด มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเอื้อประโยชน์ต่อทางราชการสูงสุดและทันตามกำหนดเวลา ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ

3.การบริหารงานบุคคล

โรงเรียนจะมีความเจริญก้าวหน้านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียน มีอาคารเรียนที่สวยงดงาม แหล่งเรียนรู้เยอะแยะมากมาย หลักสูตรแบบเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน ที่ดีมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมาย หากบุคลากรขาดศักยภาพ ขาดความตั้งใจ ขาดการฝักใฝ่สนใจหาประสบการณ์ หรือความเอาใจใส่ในงานที่รับผิดชอบ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคลากรภายในโรงเรียนที่จะมีศักยภาพในการดึงเอาสิ่งที่มีอยู่ในโรงเรียน ในชุมชน มาใช้ในการบริหารจัดการหรือนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนตามความต้องการของนักเรียน ชุมชนและโรงเรียน ได้อย่างสูงสุด ดังนั้น การบริหารงานบุคคลจึงจำเป็นจะต้องให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการ ซึ่งข้าพเจ้าได้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอดจึงได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

-จัดทำแผนภูมิการบริหารงานที่ชัดเจนเหมาะสม กับสภาพของโรงเรียน

-มอบหมายภารกิจให้กับบุคลากรรับผิดชอบอย่างเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ

-ควบคุมดูแลบุคลากรอย่างยุติธรรมและให้ความเสมอภาคอย่างทั่วถึง

-ส่งเสริมให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น การสนับสนุนในการทำวิทยฐานะ หรือการส่งเข้าแข่งขันด้านต่าง ๆ ฯลฯ

-ส่งเสริม ให้บุคลากรเข้ารับการอบรม สัมมนา ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของโรงเรียนและความต้องการของครู

-ส่งเสริมให้บุคลากรได้ศึกษาเอกสาร วารสารต่าง ๆ หรือศึกษาข้อมูลหรืองานต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง นักเรียนและโรงเรียน จากสื่อที่ทันสมัย เช่น Internet และให้เห็นความสำคัญในการศึกษาหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน อย่างสม่ำเสมอ

-ประพฤติตนเป็นที่พึ่งของผู้ใต้บังคับบัญชาในเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว

-รักษาระเบียบวินัยและประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

-จัดระบบการทำงานเป็นทีมและให้มีการสื่อสารกันอย่างทั่วถึง

-ประพฤติปฏิบัติตนในการปกครองบังคับบัญชาโดยยึดหลักคุณธรรมและหลักพรหมวิหาร

-ส่งเสริมขวัญกำลังใจตามโอกาสอันสมควร

การดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้บุคลากรในโรงเรียนมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานจนทำให้ มีความก้าวหน้า และมีสมรรถภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น งานบังเกิดประสิทธิภาพมีประสิทธิผลสูงสุด

4.การบริหารงานทั่วไป

โรงเรียนได้กำหนดแนวดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย วัตถุประสงค์และเป้าหมายของทางราชการ โดยกำหนดให้มีครูทำหน้าที่งานสารบัญของโรงเรียนและครูผู้รับผิดชอบงานต่าง ๆ ตามกรอบงานบริหารทั่วไปไว้อย่างชัดเจน จัดให้มีระบบการควบคุมภายใน เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารงานและติดตามตรวจสอบ จัดให้มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของนักเรียน ประสานงานกับชุมชนหรือหน่วยงานอื่น ๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ในการระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาตลอดจนให้บริการชุมชน ด้านวิชาการ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ สถานที่และยังได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

-การจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

-การส่งเสริมความมีระเบียบวินัย

-การจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยภายในโรงเรียน

-การส่งเสริมพัฒนาสุขภาพอนามัยของนักเรียน

-การส่งเสริมมารยาทไทย ศิลปวัฒนธรรมไทยเชิงอนุรักษ์

-การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา การจัดกิจกรรมด้านกีฬา นันทนาการ

-การจัดโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน

-การดูแลด้านอาคารสถานที่ ความสะอาดร่มรื่นในบริเวณโรงเรียน ปรับปรุงอาคารเรียน อาคารประกอบให้มีความเหมาะสมที่จะเป็นสถานศึกษา ให้น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน

-การจัดให้มีแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนทั้งภายใน และภายนอกโรงเรียน จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินงาน

-การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนและการประชาสัมพันธ์ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน

-จัดระบบข้อมูลสารสนเทศได้อย่างเป็นระบบถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

-มีการกำหนดมาตรการ การอยู่เวรยามรักษาสถานที่ราชการตามระเบียบของทางราชการทั้งกลางวันและกลางคืน

ผลงานที่ปรากฏต่อนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชนและสถานศึกษา

จากการบริหารจัดการที่ได้ดำเนินงานในด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารบุคคลและการบริหารงานทั่วไป มีการพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ มีทักษะในการบริหารจัดการศึกษาส่งผลให้ครูและบุคลากรในสถานศึกษาปฏิบัติงานได้ตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของทางราชการมีผลงานที่ปรากฏต่อนักเรียน ครู ผู้ปกครองชุมชนและสถานศึกษาดังต่อไปนี้

ผลที่เกิดกับผู้เรียน

ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ โดยได้เรียนรู้ตามความสนใจ ตามความถนัดจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เป็นผลให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะที่จำเป็นตามมาตรฐานที่หลักสูตรกำหนด นอกจากนี้ยังมีผลการแข่งขันทางวิชาการระดับศูนย์เครือข่ายโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับจังหวัด ในระดับเหรียญทอง เช่น ได้รับเหรียญทอง จากการแข่งขันการเขียนคำคล้องจอง ของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ของศูนย์เครือข่ายที่ 6 และเข้าไปแข่งขันในระดับเจตพื้นที่การศึกษา นครราชสีมา เขต 7 ได้รับรางวัล เหรียญทองแดง และได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 การแข่งขันประกวดแต่งกลอนสุภาพ ระดับช่วงชั้นที่ 2 ของศูนย์เครือข่าย ฯ ที่ 6

-ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในการสอบ NT ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2550
จากผลการทดสอบ 0-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2550 นั้น จากการเปรียบเทียบผลการสอบในศูนย์เครือข่ายฯ ที่ 6 จากจำนวน 22 โรงเรียน นั้น โรงเรียนบ้านหนองไผ่พิทยาคม อยู่ในลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง

ผลที่เกิดกับครู และบุคลากรทางการศึกษา

จากการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาส่งผลให้ครูมีคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ มีความขยันมั่นเพียร วิริยะ อุตสาหะ มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง รู้จักนำกลยุทธ์เทคนิควิธีการใหม่ ๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ตลอดทั้งการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ และการสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอน สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยตรง มีความรักสามัคคี ทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพและช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างกัลยาณมิตร จากการสรุปแบบประเมินความพึงพอใจของชุมชนต่อคณะครู ชุมชนมีความพึงพอใจในระดับดีมาก

ผลที่เกิดกับผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน

จากการเข้าร่วมกิจกรรม และด้านอื่น ๆ กับชุมชน ทำให้ได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ผู้ปกครอง ชุมชน มีความรักและศรัทธาในตัวครู และโรงเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษา การจัดหรือทำกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการบริจาคแรงงาน สิ่งของ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ตามศรัทธา การอยู่เวรยามร่วมกับคณะครู เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ปกครองยังยินดีให้ความร่วมมือ กำกับ ติดตาม ดูแล และรายงานพฤติกรรมนักเรียน ช่วยเหลือทางโรงเรียนอีกทางหนึ่ง

ผลที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษา

ทำให้สถานศึกษาเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และยังได้รับงบประมาณสนับสนุน โครงการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมและคอมพิวเตอร์ จำนวน 30,000 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลขุย ต่อเนื่อง 2 ปี ได้แก่ ปีการศึกษา 2549 และปีการศึกษา 2550และโครงการจัดหาสื่อมัลติมีเดียประกอบการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2551

ผลที่เกิดกับการจัดการศึกษา

จากการดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้ประชากรในวัยเรียนมีการเข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง ผู้เรียนมีคุณภาพเป็นประจักษ์ โดยประเมินจาก 1). ด้านความรู้ความสามารถ ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2). ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประเมินจากผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และ 3).ด้านการดำรงชีวิตในสังคม ประเมินจาก การประเมินสมรรถภาพทางกายของนักเรียน และผลการเรียนหลักสูตรท้องถิ่น การมีรายได้เสริมระหว่างเรียน และการอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข



                             ขอรับรองว่าข้อมูลทั้งหมดถูกต้อง และเป็นความจริง



                               (ลงชื่อ).....................................................

                                             ( นายพันธุ์ศักดิ์ชัย ปูพบุญ )

                     ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านหนองไผ่พิทยาคม

                                         วันที่ 7 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2552

1 ความคิดเห็น: